ซีรีส์ “สร้างสังคมฉุกคิดด้วย…ESG”

By 27 ก.ค. 2565

 

 

ซีรีส์ “สร้างสังคมฉุกคิดด้วย…ESG” ในส่วน “ESG Investing” พูดคุยกับผู้ลงทุนในประเทศ (สถาบัน/บุคคล) ต่อการลงทุนที่ยึดกรอบ ESG นำเสนอแนวคิด วิธีการ กระบวนการของทั้งนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนบุคคล ที่นำ ESG มาเป็นกลยุทธ์ในการบริหารความเสี่ยงในการลงทุน รวมทั้งการใช้บทบาทในฐานะผู้ลงทุนร่วมขับเคลื่อนให้กิจการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนในกรอบ ESG ซีรีส์นี้จะบอกเล่าแต่ละกรณีตัวอย่าง เพื่อร่วมกันสร้างการลงทุนยั่งยืนด้วย…ESG”

แม้ว่าการลงทุนที่มุ่งสู่ความยั่งยืน หรือ ESG : Environmental (สิ่งแวดล้อม) Social (สังคม) และ Governance (ธรรมาภิบาล) จะเป็นแนวโน้มที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทย แต่มุมมองเกี่ยวกับการลงทุนด้าน ESG สำหรับบริษัทจัดการกองทุน (บลจ.) แต่ละแห่งก็มีแนวทางปฏิบัติที่แตกต่างกัน สำหรับ บลจ. ยูโอบี (ประเทศไทย) จำกัด ที่มีบริษัทแม่อยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ นอกจากจะมองการลงทุนด้าน ESG ในหลากหลายมิติแล้ว ยังนำ ESG เข้ามาอยู่ในกระบวนการจัดสรรการลงทุนอย่างจริงจังอีกด้วย

ESG เริ่มต้นจากตัวองค์กร

นายเจิดพันธุ์ นิธยายน กรรมการผู้จัดการ สายการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ยูโอบี (ประเทศไทย) จำกัด พร้อมกับ นางสาวสิริอนงค์ ปิยสันติวงศ์ ผู้จัดการกองทุน ฝ่ายการลงทุนสินทรัพย์ทั่วโลก และนายกุลฉัตร จันทวิมล รองกรรมการผู้จัดการ สายพัฒนาธุรกิจ ได้ร่วมกันให้ข้อมูลและมุมมองการลงทุนด้าน ESG ของ บลจ.ยูโอบี

“ESG เป็นนโยบายของ UOB ไหลเนื่องมาจากภูมิภาค มีการตั้งเป้าหมาย แผนงาน ความคืบหน้า แล้วก็ตั้ง ESG Resource คือมีคนรับผิดชอบในการประสานงานทั้งในไทยและต่างประเทศ การดำเนินงานต่าง ๆ โดยสำนักงานใหญ่ที่สิงคโปร์ แต่ละปีจะมีการกำหนดแผนงานออกมา ซึ่งเมื่อเทียบกับองค์กรอื่น ๆ ที่สามารถกำหนดแผนงาน ESG เองได้ แต่ของ UOB จะเป็น ESG Champion ที่มีหลายมิติ เช่น มิติของบริษัท ไม่ใช่แค่การลงทุน แต่มีเรื่องตัวบริษัท พนักงาน บริษัทไปประเมิน ESG บริษัทอื่น ทาง UOB เอง ต้องมีเรื่อง ESG ของบริษัทเองครบด้วย ขณะเดียวกัน ก็มีการดำเนินการเรื่อง CSR กิจกรรมเพื่อสังคมในหลาย ๆ ด้าน”

นางสาวสิริอนงค์ ให้ข้อมูลพื้นฐาน ว่า ยูโอบีประเทศไทยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ UOBAM และอยู่ในกลุ่ม UOB ที่เป็น Regional Player ซึ่งนับเป็นกลุ่มบริษัทแรกๆที่ได้ลงนามใน UN-PRI (UN-supported Principles for Responsible Investment หรือหลักการลงทุนที่รับผิดชอบในระดับสากลที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์การสหประชาชาติ) ตั้งแต่ต้นปี 2564

เนื่องจากเป็นการลงนามในนามกลุ่มยูโอบี เมื่อมีกิจกรรม ก็จะทำร่วมกันหมด ขึ้นอยู่กับแนวคิดในแต่ละปี เช่น ปีที่ผ่านมา คือ Zero Hunger ทุกประเทศจะมีการนำอาหารไปให้ผู้ป่วยที่ติดโควิด ปีนี้จะเน้น climate change กิจกรรมที่ทำ คือ การปลูกต้นไม้ Tree Planting เป็นต้น

ส่วนในด้านการลงทุน เนื่องจากในกลุ่มประเทศเอเชียจะมีปัญหาที่คล้ายกัน คือ เรื่องข้อมูลด้าน ESG เทียบกับยุโรปที่ตื่นตัวเรื่อง ESG มาก่อนตามด้วยสหรัฐ จึงมีความพร้อมด้านข้อมูลมากกว่า แต่สำหรับบริษัทไทยและหลายประเทศในเอเชีย ยังไม่ใช่ แต่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ก็มีความพยายามกระตุ้นให้บริษัทจดทะเบียน (บจ.) เปิดเผยข้อมูลมากขึ้น ซึ่งเป็นเป็นส่วนของ G-Governance ข้อดีอีกอย่าง คือ เรื่องฐานข้อมูล บริษัทแม่ที่สิงคโปร์มีการซื้อข้อมูล MSCI ที่สามารถแชร์กันใช้ในกลุ่มยูโอบี บางอย่างก็เอามาแชร์ไอเดียกับ บจ.ในไทยได้

นายเจิดพันธุ์ กล่าวว่า ยูโอบีให้ความสำคัญกับบริษัทที่ให้ความสำคัญกับ ESG ให้ความสำคัญกับการลงทุนที่ไม่มีผลกระทบ ไม่ทำร้าย สภาพแวดล้อม สังคม และมีธรรมาภิบาล เพราะมีภาพชัดว่า สิ่งเหล่านี้เป็น threat กับผลการดำเนินงานบริษัทในอนาคต เพราะนอกเหนือจากการแข่งขันทางธุรกิจ ผลประกอบการของธุรกิจแล้ว ESG คือ valuation ที่อยู่ข้างหนึ่ง ต้องผสมสองอย่างนี้เข้าด้วยกัน ถ้าบริษัทมีแต่ valuation คือผลประกอบการดี แต่ไม่ให้ความสำคัญกับ ESG เลย วันใดวันหนึ่ง 3 เรื่องนี้ก็อาจจะเป็น threat กับบริษัทที่ลงทุน ในตลาดหุ้นมีตัวอย่างมาเยอะ ไม่ว่าจะเป็นกรณีพิพาทต่าง ๆ เรื่องธรรมาภิบาล เรื่องสังคม การฟ้องร้อง

การเลือกบริษัทที่ให้ความสำคัญกับ ESG จะทำให้สบายใจได้กับการลงทุน เป็นองค์ประกอบหนึ่งในการตัดสินใจลงทุน

นำ ESG เข้ากระบวนการตัดสินใจลงทุน

นายเจิดพันธุ์กล่าวว่า การร่วมลงนามใน UNPRI จะมีพันธะสัญญาที่ต้องปฏิบัติอยู่ 6 ข้อ เรื่องแรกคือ ต้องเอา ESG เข้าสู่กระบวนการตัดสินใจลงทุน ไม่ใช่มีไว้เฉย ๆ แต่ต้องอยู่ในกระบวนการตัดสินใจลงทุน เรื่องต่อมา คือการเข้าไปมีบทบาท มีส่วนร่วมในการพัฒนาเรื่อง ESG กับบริษัทที่ร่วมลงทุน คือมี engagement แต่ละบริษัทว่าควรมีการพัฒนาในด้านไหน เช่น สังคม สิ่งแวดล้อม ในขณะที่นักลงทุนธรรมดาไม่มีความจำเป็น แค่ดูอยู่วงนอกว่าบริษัทไหนดี แล้วเลือกลงทุนบริษัทนั้น แต่พอร่วมลงนามใน UNPRI ที่ต้องการให้เรามีส่วนร่วมในการเสริมสร้างอุตสาหกรรมในจุดนี้ สำเร็จหรือไม่ ไม่รู้ แต่ต้อง engage เพื่อกระตุ้น ส่วนนี้จะหนัก จะเหนื่อยหน่อย รวมทั้งต้องสร้าง สนับสนุนในกลุ่มบลจ.เองให้เดินหน้าเรื่อง ESG ต่อไปได้ รวมถึงการรายงาน การเปิดเผยข้อมูล

อย่างไรก็ตาม นายเจิดพันธุ์ ยอมรับว่า แนวทางและวิธีการประเมินเรื่อง ESG เป็นเรื่องค่อนยาก แต่โชคดีที่ยูโอบีสิงคโปร์มีการศึกษาข้อมูลจาก MSCI รวมทั้ง จาก SASB(Sustainability Accounting Standards Board) แล้วนำมาประยุกต์ และจัดทำแนวทาง(guideline)ในการประเมินคะแนนของ ESG ของยูโอบีขึ้น

“สำหรับยูโอบี ESG เป็นกระบวนการการตัดสินใจลงทุนทั้งตราสารหนี้ ทั้งหุ้น แต่แนวทางและวิธีการประเมินที่ใช้ บอกได้ว่ายาก เรื่อง ESG อยากจะใช้คำว่า ยังไม่ใช่ศาสตร์ ไม่ใช่ไฟแนนซ์ อาจจะมีรูปแบบต่าง ๆ แต่ยังไม่เป็นศาสตร์”

โดยมีหลักเกณฑ์การประเมิน ESG 2 ส่วน ส่วนแรกคือ เกณฑ์ในการประเมิน E-S-G สองคือ น้ำหนักที่จะให้กับ E-S-G ในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมที่แตกต่างกันไป และทำเป็นแพลตฟอร์มขึ้น เรียก UOB Materiality Map ที่นำมาใช้ทั้งภูมิภาค รวมทั้งพัฒนา ESG Scoring ให้มีความเป็น dynamic

โดยพยายามจับข่าวทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับหุ้นที่ยูโอบีลงทุนมาแปลความหมายออกมาว่า เป็นบวก หรือลบ ต่อ E-S-G เพราะแต่ละวันจะมีข่าวเข้ามา บางข่าวไม่ได้มีนัยยะมากพอให้เกิดเรื่องที่ต้องแจ้งตลาดหลักทรัพย์ เรื่องการฟ้องร้อง แต่เป็นข่าวที่ค่อย ๆ เข้ามา เป็นการหา ESG momentum ในแต่ละบริษัท ซึ่งพบว่าการเปลี่ยนแปลงของ ESG มีความสัมพันธ์กับราคาหุ้น ทำให้วันดีคืนดี มีเรื่องที่ทำให้ ESG Score ถูกปรับลดลง เป็นการปรับลดโดยอัตโนมัติ แล้วทีมจะต้องเข้าไปดูว่า ถูกปรับลดเพราะเรื่องอะไร เพื่อมาคุยกัน จะไม่ได้ยึดตามผลการประมวลจาก AI ทั้งหมด รวมทั้งจะมองเรื่อง ESG แยกจาก Valuation เพื่อสร้างผลตอบแทนให้ผู้ถือหน่วยลงทุน เพราะแต่ละเรื่องไม่มีสูตรชัดเจนถึงการตอบสนองของตลาด ซึ่งบริษัทอื่นอาจจะนำสองเรื่องนี้มาผนวกกันในแง่ตัวเลข แล้วลดราคาเป้าหมายลง

นายเจิดพันธุ์ กล่าวว่า เรื่อง ESG ตอนนี้ทุกคนรู้แล้วว่าดีอย่างไร แต่สิ่งที่ยูโอบีจะบอก คือ ESG มีประโยชน์ต่อการลงทุนอย่างไร และ ESG อยู่ในกระบวนการลงทุนของยูโอบี ในทุกการลงทุนมีการให้คะแนน ESG ในหลักทรัพย์ที่ลงทุนทั้งหมดผ่านหลักเกณฑ์ต่าง ๆ และเป็นเกณฑ์ที่ต้องมีการพัฒนาไปเรื่อยๆ เปลี่ยนแปลงได้ตลอด และแม้จะโชคดีที่ยูโอบีสิงคโปร์มีการพัฒนา Materiality Map ในการประเมิน ESG แต่จะเหนื่อยในการหาข้อมูล เพราะข้อมูลส่วนใหญ่มาจากรายงานประจำปีของบริษัท หรือการเข้าไปคุยกับผู้บริหารที่เขาอาจไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่อง ESG เป็นอันดับแรก บางครั้งก็ตอบไม่ได้ ซึ่งไม่ผิด เพราะเป็นเรื่องที่เพิ่งเข้ามา และการประเมิน ESG ต้องประเมินเป้าหมายของบริษัทจดทะเบียนด้วย คือ จะดูว่า บริษัทมีเกณฑ์เรื่อง ESG อยู่หรือไม่ จะทำหรือไม่ทำ หรือดูความตั้งใจของบริษัทที่จะดูแลสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ESG สกรีนการลงทุนให้ครบทุกมิติ

นอกจากนี้ ยูโอบี ยังมีแผนที่จะแปลงการลงทุนให้เป็นมาตรฐานของ ESG จริง ๆ โดยมี ESG เป็นหลักคิด ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ออกหลักเกณฑ์การออกกองทุนรวมเพื่อความยั่งยืน (Sustainable and Responsible Investing Fund: SRI Fund) ที่เปิดกว้างในเรื่องกระบวนการลงทุน คือไม่มีข้อจำกัดการลงทุน แต่ต้องมีความชัดเจนเรื่องการเปิดเผยข้อมูล ให้ผู้ลงทุนในกองทุนได้เห็นว่า บลจ. มีการเปิดเผยข้อมูลการลงทุนในพอร์ตที่ชัดเจนกว่าการลงทุนทั่ว ๆไป

นายกุลฉัตร กล่าวเสริมว่า ในต่างประเทศ แนวโน้มการลงทุนด้าน ESG มีความชัดเจนมากขึ้น และยิ่งช่วงเกิดโรคระบาดโควิด-19 ยิ่งเห็นภาพชัดขึ้นว่า บริษัทจดทะเบียนที่ให้ ESG Scoring สูง ราคามีการปรับตัวลงน้อยกว่า และปรับตัวขึ้นที่ดีกว่าด้วย ทำให้เป็นตัวเร่งเรื่อง ESG และแนวโน้มเริ่มมาที่เอเชีย ที่ประเทศไทยแล้ว หน่วยงานใหญ่ ๆ เช่น ตลาดหลักทรัพย์มีดัชนี ESG แล้วกำลังพิจารณา ESG Report เป็นตัวเสริม สำหรับกองทุนรวมก็มีการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน ผู้ลงทุนที่จะเลือกกองทุนอาจจะต้องดู Green Credit ที่เป็น ESG Credit เพื่อจะได้รู้ว่า บริษัทที่จะลงทุนมีมุมมองด้านนี้อย่างไร หรืออย่าง สิงคโปร์ ทำกองทุน SSS (Singapore Sustainable Select) เป็นกองทุนตราสารหนี้ที่ลงทุนในพันธบัตรรักษ์โลก(sustainable bond)เท่านั้น เพื่อให้นักลงทุนสิงคโปร์ลงทุนเพื่อซัพพอร์ตเมืองสิงคโปร์ ซัพพอร์ตคนรอบข้าง ซัพพอร์ตครอบครัว หรือเกาหลีใต้ที่นักลงทุนรุ่นหนุ่มสาวสนใจ ESG มากกว่ารุ่นผู้ใหญ่

นายเจิดพันธุ์ เห็นว่า การผลักดันการลงทุน ESG นั้นต้องทำร่วมกันไปทั้งหมด โดยในประเทศไทยนั้น ทั้งตลาดหลักทรัพย์และก.ล.ต. มีความพยายามในการผลักดันเรื่องการลงทุน ESG เช่น ให้มีการรายงานเรื่อง ESG เพื่อให้เกิดความชัดเจน นักลงทุนสามารถหาข้อมูลได้ ด้านผู้ลงทุน กลุ่มบริษัทจัดการกองทุน ก็มีการจ้าง MSCI มากำหนดไกด์ไลน์หลัก ๆ ในการกำหนดเกณฑ์ E-S-G แต่ละบริษัทสามารถนำไปใช้และพัฒนาต่อได้

ขณะที่ยูโอบี ก็มีเกณฑ์ที่พัฒนามาแล้ว 2 ปี เรียกว่าทั้งผู้กำกับดูและผู้ลงทุนที่เป็นสถาบันเตรียมตัวพร้อมแล้ว ที่เหลือก็เป็นส่วนของบริษัทจดทะเบียน ขึ้นกับแต่ละบริษัทมีความเกี่ยวข้องในเรื่อง E-S-G มากน้อยเพียงไร และเป้าหมายแต่ละบริษัทด้วย รวมทั้งผู้ลงทุนเองว่าจะยอมรับเรื่องนี้อย่างไร

“ในมุมของยูโอบี การลงทุน ESG เป็นการสกรีนการลงทุนให้ครบทุกมิติมากขึ้นในด้าน Asset Management เป็นการเอาการลงทุนเชิงคุณภาพมาผนวกกับเชิงปริมาณ เพื่อให้เกิดการตัดสินใจที่ดีที่สุดในการลงทุน”

ที่ผ่านมายูโอบี ออก LTFที่เน้น G Governance เป็นหลัก แต่ยังมี E กับ S ที่ต้องดู รวมทั้งมีกองทุนตราสารหนี้ ที่ในไทยยังไม่ค่อยเห็น แต่ยูโอบี มี ESG Advance”

สำหรับนักลงทุน กุลฉัตร บอกว่า การตัดสินใจลงทุน ESG ต้องถามตัวเองก่อนว่าอยากลงทุนตัวไหน กลงทุนต้องรู้ตัวก่อนว่าชอบแบบไหน หรืออยากมี ESG โดยรวม ซึ่งจะมีผลต่อการเลือกต่างกัน เพราะแต่ละทีม แต่ละองค์กรใช้ ESG ต่างกัน บางแห่งใช้ G เป็นหลัก อย่างยูโอบีเคยออกกองทุน LTF-CG เน้น G เป็นหลัก แต่ยังมี E S ที่ต้องดู ซึ่งในไทยมีหลายแบบ ส่วนใหญ่เป็นหุ้น ขณะที่ตราสารหนี้มีไม่มากนัก แต่ยูโอบีจะมี ESG Advance สำหรับกองทุนในประเทศ แต่ในต่างประเทศ กองทุน E-S-G มีหลากหลายมาก

ในแง่กองทุนต่างประเทศ จะมีตัวเสริมขึ้นมา คือ ถ้าเป็นกองทุนที่จริงจังต่อ ESG ในรายงานประจำเดือนจะมีรายงาน ESG แนบท้าย เช่น E หรือ S หรือ G เท่าไหร่เทียบกับภาพรวม คือผู้บริหารกองทุนพยายามสื่อสารว่า บริษัทจริงจังกับ ESG อย่างไร บางรายอาจจะบอกว่าเอาเข้าไปในกระบวนการตัดสินใจการลงทุน แต่ไม่ได้เขียนชัดเจน แต่ของยูโอบี มีรายงานกระบวนการที่เขียนเป็นหน้า มีความชัดเจน ไม่ใช่แค่พูด ในต่างประเทศ ยังมีมากกว่านั้น คือ มี ESG Report เพิ่มอีก นอกเหนือจากรายงานผลประกอบการ ทำให้นักลงทุนจะมีความเข้าใจ มีข้อมูลประกอบการพิจารณามากขึ้น

นายเจิดพันธุ์ กล่าวว่า สำหรับ ESG ยูโอบี ถือได้ว่าเป็น Active Investor เพราะทุ่มเทกับเรื่องนี้มาพอสมควร ประมาณ 2 ปีเศษในการเร่งจัดทำ Scoring การติดตาม และอื่น ๆ ที่ล้วนใช้ความคิด พลังงาน กระบวนการต่าง ๆ ค่อนข้างมาก และกลุ่มยูโอบีที่สิงคโปร์ช่วย มีไกด์ไลน์ มี AI ช่วย และแนวโน้มการลงทุนของโลกในขณะนี้ เริ่มบีบให้ต้องไปในทิศทาง ESG แม้บางบริษัทจะเห็นว่าไม่จำเป็นก็ตาม หรือเห็นว่า ESG เป็นคนละส่วนกับผลประกอบการ แต่ขณะเดียวกัน ทุกส่วนก็เห็นว่า ESG อาจจะส่งผลต่อผลประกอบการได้ในระยะยาว ๆ และระยะปานกลางได้ รวมทั้งลดความเสี่ยงของพอร์ตได้

แต่สิ่งที่ต้องพยายามทำ คือ ESG ต้องสร้างให้เสริมผลประกอบการให้ได้ ซึ่งมีการทดลองทำแล้ว แต่ยังไม่มาก เพราะข้อมูลของ ESG หรือการประเมิน ESG ไม่ได้มากถึงขนาดมีการเปลี่ยนแปลงเหมือนงบการเงินที่เปลี่ยนเพิ่มขึ้นลดลงทุกไตรมาส แต่ก็ต้องทำให้มันมีไดนามิค จะทำให้ขั้วที่ไม่สนใจ ESG ได้เห็นประโยชน์จริง ๆ

นายเจิดพันธุ์ มองแนวโน้มการลงทุนด้าน ESG ในไทย ที่แม้ภาครัฐจะพยายามสนับสนุนว่า สุดท้าย ขึ้นอยู่กับผลประกอบการ และความยอมรับของผู้ลงทุนที่เป็นเจ้าของเงินตัวจริง ที่จะตอบโจทย์ว่า ESG ดีจริงหรือไม่ และยังแบ่งเป็นกองทุนในประเทศและการลงทุนในกองทุนต่างประเทศ ถ้าผลประกอบการออกมาดี นักลงทุนก็จะรู้สึกว่า ESG ดี สำหรับกองทุนในเมืองไทย ที่จะเริ่ม SRI Fund ก็เป็นเรื่องหนัก เพราะที่กว่าจะเห็นภาพก็อีก 2-3 ปี และยังขึ้นกับขนาดการลงทุน ที่ต้องใช้เวลากว่าเจ้าของเงินเห็นว่า มีประโยชน์ในการลงทุน


ข้อสงวนสิทธิ์และคำเตือนเกี่ยวกับความเสี่ยงในการลงทุน

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ยูโอบี (ประเทศไทย) จำกัด (“บริษัทจัดการ”) จัดทำเอกสารฉบับนี้ขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการเผยแพร่ ข้อมูลเป็นการทั่วไป โดยไม่มุ่งหมายให้ถือเป็นคำเสนอ หรือการเชิญชวนให้บุคคลใดทำการซื้อ และ/หรือ ขายผลิตภัณฑ์ด้านการลงทุน ประเภทต่าง ๆ ตามที่ปรากฏในเอกสารฉบับนี้ และไม่ถือเป็นการให้คำปรึกษา หรือคำแนะนำเกี่ยวกับการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับ ผลิตภัณฑ์ด้านการลงทุนของบริษัทต่างๆ ตามที่ระบุไว้ในเอกสารนี้แต่อย่างใด แม้บริษัทจัดการจะได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร เพื่อให้ข้อมูลดังกล่าวมีความถูกต้อง และตรงกับวัตถุประสงค์ของการจัดทำเอกสารนี้ บริษัทจัดการ และพนักงานของบริษัทจัดการไม่มีความรับผิด และจะไม่รับผิดสาหรับความผิดพลาด ความไม่ถูกต้อง หรือการตกหล่นของข้อมูลใดๆ ที่เกิดขึ้นไม่ว่าด้วยเหตุใดก็ตาม รวมทั้งจะไม่รับผิดสำหรับการกระทำใดๆ ที่เกิดขึ้นบนพื้นฐานของความเห็น หรือข้อมูลที่ปรากฏอยู่ในเอกสารฉบับนี้ บริษัทจัดการไม่ได้ ให้คำรับรองหรือรับประกัน ไม่ว่าโดยชัดแจ้ง หรือโดยปริยายเกี่ยวกับความถูกต้อง แม่นยำ น่าเชื่อถือ ทันต่อเหตุการณ์ หรือความ สมบูรณ์ของข้อมูลดังกล่าวในกรณีใดๆ ทั้งสิ้น และบริษัทจัดการขอปฏิเสธความรับผิดทั้งปวงที่เกิด หรืออาจเกิดขึ้นในทุกกรณี ทั้งนี้ ความเห็น บทวิเคราะห์ หรือการคาดคะเนต่างๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์ หรือผลการดำเนินงานในอนาคตที่ปรากฏในเอกสารนี้ (ซึ่งรวมถึง แต่ไม่จำกัดเพียงข้อมูลเกี่ยวกับประเทศ เศรษฐกิจ ตลาด หรือบริษัทต่างๆ) ไม่ถือเป็นเครื่องยืนยัน และอาจแตกต่างจากเหตุการณ์ หรือ ผลประกอบการที่เกิดขึ้นจริงได้ ผลการดำเนินงานของกองทุน หรือบริษัทจัดการในอดีต/ผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่ เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนในอดีต มิได้เป็นเครื่องยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต หรือที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และอาจมีกรณีที่ผลการดำเนินงานเป็นไปอย่างผิดความคาดหมายเนื่องจากเหตุการณ์ หรือปัจจัยต่างๆ ที่ไม่เป็นปกติได้ การลงทุนในหน่วย ลงทุนมิใช่การฝากเงิน และไม่ถือว่าบริษัทจัดการ และ/หรือ บริษัทในเครือ หรือผู้ดำเนินการขายของบริษัทจัดการได้รับประกันการ ลงทุนให้แก่ผู้ลงทุนแต่อย่างใด นอกจากนั้น การลงทุนมีความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงจากการลงทุน ความเสี่ยงจากอัตรา แลกเปลี่ยน หรือความเสี่ยงอื่นๆ ดังนั้น ผู้ลงทุนอาจได้รับเงินลงทุนคืนมากกว่า หรือน้อยกว่าเงินลงทุนเริ่มแรก หรือไม่ได้รับเงินลงทุน คืนเลยก็ได้ ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลในหนังสือชี้ชวนของกองทุน คำเตือน และเอกสารที่เกี่ยวข้องก่อนทำการสั่งซื้อหน่วยลงทุน และ ในการทำธุรกรรมต่างๆ เพื่อหน่วยลงทุนนั้นจะต้องทำตามรูปแบบ และวิธีการที่ระบุไว้ในหนังสือชี้ชวนสำหรับนักลงทุนที่ต้องการทราบ ข้อมูล หรือรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดต่อบริษัทจัดการ หรือผู้ดำเนินการขายที่ท่านใช้บริการ บริษัทจัดการขอสงวนสิทธิ์ในข้อมูล ที่ปรากฏในเอกสารนี้โดยห้ามมิให้ผู้ใดเผยแพร่ ทำซ้ำ ดัดแปลง ลอกเลียนแบบ อ้างอิง ไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วน หรือใช้วิธีการใดก็ ตามเว้นแต่จะได้รับอนุญาตล่วงหน้าจากบริษัทจัดการเป็นลายลักษณ์อักษรก่อน นอกจากนั้น บริษัทจัดการขอสงวนสิทธิ์ที่จะทำการ แก้ไข ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมข้อความใดๆ ในเอกสารนี้ได้ตามที่บริษัทจัดการจะเห็นสมควร

การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะกองทุน นโยบายกองทุน
เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง และผลการดำเนินงานของกองทุนก่อนตัดสินใจลงทุน